ประเพณีและงานเทศกาลของจังหวัดชลบุรี
งานบุญกลางบ้าน
งานบุญกลางบ้าน และเครื่องจักสานพนัสนิคม เป็นงานประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานของชาวอำเภอพนัสนิคม และจะจัดขึ้นในราวเดือน 3-6 (ไทย) ซึ่งส่วนหนึ่งสืบทอดเชื้อสายมาจากชาวลาวพวนที่อพยพเข้ามาจากประเทศลาวในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ในงานนี้ชาวบ้านจะนำอาหารมาร่วมกันทำบุญตักบาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้พระภูมิเจ้าที่ เจ้ากรรมนายเวร และดวงวิญญาณของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
งานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ งานสงกรานต์ และงานกาชาดของชลบุรี
งานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ งานสงกรานต์ และงานกาชาดของชลบุรี เป็นงานประจำปีที่ชาวจังหวัดชลบุรี ได้ร่วมกันจัดติดต่อกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 โดยถือเอาประมาณกลางเดือนเมษายนของทุกปีเป็นวันจัดงาน ประกอบไปด้วยขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งพระคู่บ้านคู่เมืองพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงโขนของกรมศิลปากร และการแสดงทางวัฒนธรรม นิทรรศการ และ การออกร้าน เพื่อเป็นการส่งเสริม และรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น
เทศกาลดนตรีพัทยา (The Grand Pattaya International Music Festival)
เทศกาลดนตรีพัทยา (The Grand Pattaya International Music Festival) เป็นเทศกาลดนตรีประจำปีของพัทยา โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545) เทศกาลดนตรีประจำปีของเมืองพัทยา หลากหลายงานดนตรี จากวงดนตรีชั้นนำทั้งไทย และต่างประเทศ สนุกดื่มด่ำ กับงานดนตรีหลากหลายสไตล์ ตามใจที่คุณต้องการ ตลอด 3 วัน 3 คืน ซึ่งจัดเดือนมีนาคมของทุกปี แยกเป็นเวทีต่างๆ ตั้งแต่วงเวียนปลาโลมาไปจนถึงท่าเทียบเรือท่องเที่ยวเมืองพัทยา (แหลมบาลีฮาย) แบ่งตามชนิดของดนตรี จากบรรดากลุ่มศิลปิน นักร้อง นักดนตรี ทั้งไทยและต่างประเทศ สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นแสดง
งานประเพณีกองข้าว อำเภอศรีราชา
งานประเพณีกองข้าว อำเภอศรีราชา เป็นประเพณีอันเก่าแก่ของชาวเมืองชลบุรี ปัจจุบันมีที่อำเภอศรีราชาที่ยังคงรักษาประเพณีนี้อยู่ โดยจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ 19-21 เดือนเมษายนของทุกปี สถานที่จัดอยู่บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลศรีราชา และที่บริเวณเกาะลอยศรีราชา กิจกรรมของงานจะประกอบไปด้วยการจัดขบวนแห่ที่นำโดยกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่และหน่วยงานต่างๆ ที่แต่งกายด้วยชุดไทยประจำบ้านเข้าร่วมขบวน พิธีบวงสรวงและเซ่นสังเวยผี การสาธิตประเพณีกองข้าว การละเล่นพื้นบ้าน การสาธิตและจำหน่ายขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง เป็นต้น
งานประเพณีก่อพระทรายวันไหล บางแสนและพัทยา
งานประเพณีก่อพระทรายวันไหล บางแสน เป็นงานที่ทางเทศบาลเมืองแสนสุข จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันที่ 16-17 เมษายนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี และการละเล่นพื้นบ้าน อันดีงามของชาวบางแสน ให้คงอยู่ และเป็นที่รู้จักแพร่หลายตลอดไป ประเพณีอันยิ่งใหญ่นี้ ณ บริเวณชายหาดบางแสน กิจกรรมในงานประกอบด้วย การประกวดก่อพระเจดีย์ทราย, การทำบุญตักบาตร, สรงน้ำพระพุทธรูป, การละเล่นพื้นบ้าน, รดน้ำสงกรานต์ ตลอดจนการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน เช่นการแข่งขันชักเย่อ, การแข่งขันกินข้าวหลาม, การแข่งขันแกะหอยนางรม, การแข่งขันวิ่งเปี้ยว และการแข่งขันตะกร้อรอดห่วง
งานประเพณีก่อพระทรายวันไหล พัทยา ได้กำหนดจัดงานวันไหลในวันที่ 19 เมษายน ของทุกปี โดยมีกิจกรรมต่างๆมากมาย เช่น พิธีรดน้ำดำหัว ขบวนแห่วันไหล การสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานของประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
งานเทศกาลปีใหม่ พัทยา
งานเทศกาลปีใหม่ พัทยา เป็นงานที่เมืองพัทยา ร่วมสร้างความสุข ความสนุก ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ กับงาน Pattaya Countdown เฉลิมฉลองอย่างจุใจ 7 วัน 7 คืน ตระการตากับการแสดงพลุที่ยิ่งใหญ่อลังการกว่า 20,000 นัด ตลอดชายหาดพัทยา ตั้งแต่วงเวียนปลาโลมาไปจนถึงท่าเทียบเรือท่องเที่ยวเมืองพัทยา แหลมบาลีฮาย)ซึ่งเป็นเคาท์ดาวน์ที่ยาวนานและยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยการเฉลิมฉลองความสุขแห่งปี ตั้งแต่ “วันคริสต์มาส” ที่จะมีกิจกรรมเปิดไฟประดับถนน เปิดสัญลักษณ์เทศกาลคริสต์มาส เช่น Snowman ต้นคริสต์มาสขนาดใหญ่ กวางเรนเดียร์ และรถลากเลื่อน ฯลฯ รวมถึงการแจกของขวัญให้เด็ก ๆ เปิดเพลงคริสต์มาส พร้อมด้วยการแสดงของศิลปินชั้นนำของไทยและต่างประเทศ
งานประเพณีวิ่งควาย
งานประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดชลบุรี จัดขึ้นเดือนตุลาคมของทุกปี นอกจากที่จัดที่อำเภอเมืองชลบุรีแล้วยังมีการจัดในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในอำเภอบ้านบึง อำเภอหนองใหญ่ ในวันงานชาวไร่ ชาวนาจะตกแต่งควายของตนอย่างสวยงามด้วยผ้าแพรสีต่างๆ และนำควายมาชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัด มีการแข่งขันวิ่งควาย ประกวดสุขภาพควาย ประกวดการตกแต่งควาย ประกวดนางงาม “น้องนางบ้านนา” เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรียบเรียงโดย นางสาวจิตสุภา ฉิมนาคบุญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น